สรุปขั้นตอนการย้ายประเทศ

สรุปขั้นตอนการย้ายประเทศ


1. มีเงินเก็บในธนาคารอย่างต่ำ 3 แสนบาท*ต่อคน*

เงินจำนวนนี้ห้ามใช้จ่ายเด็ดขาด มีไว้เพื่อโชว์ใน Bank Statement เวลาที่ยื่นขอวีซ่า และทางที่ดีควรเป็นบัญชีออมทรัพย์ที่มีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นฝากประจำก็ไม่เป็นไร แค่ต้องแนบบัญชีออมทรัพย์ไปด้วย

2. ไปหาวิธีว่าจะไปต่างประเทศได้อย่างไร

- หาสามี/ภรรยาฝรั่ง
- (ขอทุน)ไปเรียนต่อแล้วหางานทำ*วิธีนี้ง่ายสุด
- หางานในต่างประเทศ/ย้ายตำแหน่งจากภายในองค์กร 
- ยื่น migration program (แคนาดา/ออสเตรเลีย)
- US Green Card

3. เงินตั้งตัว
ต้องมีเงินใช้ที่เมืองนอกอย่างต่ำสองเดือนระหว่างที่กำลังหางานทำ สบายๆ ต้องมีอย่างน้อยๆ สัก 50,000-100,000 บาท เงินจำนวนนี้เป็นค่าอาหารและของใช้ ค่าเช่าบ้าน ค่ารถเมล์ ค่าซิมโทรศัพท์และค่าดำเนินการเอกสารจิปาถะ *ห้ามช็อปปิ้งเด็ดขาด 

จะไปหาเงินนี้จากที่ไหน: ทำงานเก็บเงินเอง/กู้ยืม/ทุนเรียนต่อ (เรื่องทุนไว้ว่ากันวันหลัง) 

ถ้ามีน้อยกว่า 50,000 บาทจะเครียดมาก จะได้กินแต่ผักและขนมปัง ยิ่งแถบแสกนดิเนเวียค่าครองชีพสูงยิ่งต้องมีมาก นั่งรถไฟชั่วโมงเดียวเที่ยวละ 500 บาท นั่งรถเมล์สิบนาที 50 บาท ใช้เงินเหมือนถลุงเงิน 

4.ถึงที่แล้วหางานทำอย่างด่วน

งานบริการ
- ถึงที่แล้วเปิดแมพดูเลยว่าร้านอาหาร/ร้านขายของมีกี่ที่ในเมือง แล้วเดินไปเคาะประตูทีละร้าน ถ้าร้านปิดอยู่ลองเคาะๆ ดู เดี๋ยวก็มีคนมาเปิดประตู วิธีนี้เขาจะชอบมากกว่าส่งอีเมล เพราะได้สัมผัสตัวจริงของเรา 
- วันที่ไปถึงแต่งหน้าแต่งตัวดีๆ เล็บมือต้องสะอาด พอไปถึงร้านแล้วให้ขอคุยกับ"ผู้จัดการร้าน" กับคนอื่นไม่ต้องคุยมาก 
- Hej! Can I speak to the restaurant manager? I have arrived here a week ago and was wondering if there is any vacancies here? 
- แล้วเขาจะถามว่าเคยทำอะไรมาก่อน ก็บอกไปตามตรงสั้นๆ ถ้าที่ทำมาไม่เกี่ยวกับร้านอาหารก็บอกไปว่า I want to learn new things and start over in a different industry. 
- ถ้าเขาบอกว่าไม่มีงาน ให้จบด้วยการขอคำแนะนำจากเขา (Ok, one last question, do you have any advice for me looking for jobs here?) แล้วขอบคุณงามๆ บางทีถ้าเขาประทับใจเราเขาจะขอคอนแทกต์เราเก็บไว้
- เตรียม CV หน้าเดียวพอ เขียนให้เข้าทางอาชีพบริการ แล้วพิมพ์ออกมาสักห้าฉบับ ถ้าเขาขอแบบกระดาษก็หยิบให้เขา ถ้าเขาขอเป็นอีเมลก็ส่งให้เขาทางอีเมล

งานบริษัท
- ต้องหา local platform ให้เจอว่าเขาใช้อะไร (JobDB, JobTopGun ของประเทศนั้นๆ) ถ้าหาออนไลน์ไม่เจอ ก็ลองถามจากพนักงานเสิร์ฟที่วัยรุ่นๆ หน่อยก็ได้ ถ้าเพิ่งเริ่มงานอย่าไปหาจาก LinkedIn มันชั้นสูงมาก เดี๋ยวจะหมดกำลังใจเอา
- เข้ากรุ๊ปเฟซบุ๊ค เช่น English Jobs in Sweden 
- บางทีเขาจะมีโปรแกรมฝึกงานสำหรับชาวต่างชาติ เข้าโปรแกรมนี้เสร็จจะได้ placement ในบริษัทเลย
- ทำมากกว่าที่เขาขอหนึ่งสเต็ปเสมอ เช่น ถ้าเขาขอแค่ CV ให้ส่ง CV+Cover letter กรอกแบบฟอร์มให้หมดทุกช่องแม้ช่องนั้นจะมีคำว่า optional เราต้องทำมากกว่าเขาเพื่อพิสูจน์ตัวเองเสมอ การเป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในเมืองนอก คือ เราต้องเทียบเท่าหรือเก่งกว่าคนของเขา 
- ขาดสกิลอะไรไปเรียนออนไลน์ แล้วหาทางเก็บพอร์ต ทุกสกิลที่เขียนในเรซูเม่ต้องมีพอร์ตรองรับ
- สายคอนเท้นต์เปิดไอจีทำพอร์ตรัวๆ ไอจีเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ง่ายและอินเตอร์สุด สกิลที่นำไปขายได้นั้นได้แก่ Graphic designing/Photography, Copywriting, SMM, Social Media Marketing ฯลฯ แล้วแต่เราจะนึกออกเลย follower น้อยไม่เป็นไร ลองทำของใหม่ไปเรื่อยๆ เอาเป็นว่าให้มันมีของออกมาเยอะๆ มีที่เก็บเป็นที่เป็นทางก็พอ
- เวลาสมัครงานให้ทำ CV tracker ไว้ด้วย เป็นไฟล์ Excel เพื่อให้เรารู้เองว่าเราสมัครไปกี่ที่ ที่ไหนบ้าง
- สมัครงานไปเรื่อยๆ ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ได้ไม่ต้องเสียใจนาน คิดเสียว่าโลกจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้เราเสมอ 

5.ภาษา 
- สอบให้ผ่านขั้นต่ำที่จะมาที่นี่ เช่น ถ้าเขาขอ IELTS 7.0 ก็ทำให้ถึงเป้าพอ เดี๋ยวมาถึงที่นี่จะเก่งกว่านี้ได้เองตามธรรมชาติ 
- ภาษาเป็นสิ่งที่ไม่มีเพดาน ณ จุดหนึ่งความเก่ง คือ เอาตัวรอดได้ ยากขึ้นมาหน่อยคือคุยกับเขาในบทสนทนาได้ 
- แต่ถ้าพูดถึงระดับที่ทำงานบริษัทได้ เราคิดว่าอย่างน้อยต้องแก้เอสเสให้ตัวเองได้ และเข้าใจความแตกต่างระหว่างสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ 

6. เตรียมตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมต่างชาติ
- ดูหนังฟังเพลงฝรั่ง สังเกตว่าเขาทำตัวกันอย่างไร เช่น เวลากินข้าวจับช้อนส้อม สำนวนภาษา การแต่งกาย ฯลฯ หาให้เจอว่าเขาต่างจากเราอย่างไร เป็นการฝึกความเข้าใจทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง
- หาโอกาสเข้าสังคมกับเพื่อนต่างชาติ
- "ด้านได้ อายอด" อย่าเขินอายในสิ่งที่ดีงาม 
- เป็นคนชอบถามและกล้าแสดงออก ต่อรองให้เป็นและทันคน มี resilience สูงๆ เข้าไว้ เฟลแล้วฟื้นตัวให้ไว 
- คนต่างชาติจะไม่มีวันเข้าใจความเกรงใจของคนไทย เราจะรู้สึกเหมือนว่าเขาไม่แคร์เราเลย ในสังคมเมืองนอก ถ้าอยากได้อะไรเราต่างหากที่ต้องเป็นคนพูด ถ้าไม่พูดก็แสดงว่าที่เป็นอยู่นี้โอเคแล้ว

มาอยู่เมืองนอกไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เหงาก็โทรหาเพื่อน โทรหาที่บ้าน ออกไปเดินถ่ายรูปเล่น หรือชวนคนแปลกหน้าคุย

ช่วงแรกๆ ลำบากสุดเลย เพราะไม่ชินกับการอยู่คนเดียว แต่พอชินแล้วจะเริ่มชิล เห็นเลขเงินแล้วจะเริ่มมีกำลังใจในการอยู่ต่อ เริ่มมีเป้าหมายและสนุกกับชีวิตมากขึ้น 

เรื่องทำเอกสารราชการบอกได้เลยว่ายุ่งยากทุกประเทศ หน่วยงานราชการพูดไม่ตรงกันบ้างแม้จะเป็นสวีเดนก็ตาม และชีวิตจะยังคงมีปัญหาจุกจิกกวนใจอีกร้อยแปดพันประการ ทั้งเป็นปัญหาที่มาจากคนอื่น จากระบบหรือจากตัวเราเอง บางทีเราก็ทำดีที่สุดได้แค่นี้ สวีเดนก็สวีเดนเถอะ ทุกที่บนโลกก็มีความไม่สมบูรณ์แบบในแบบของมัน เรารับอย่างไหนได้มากกว่ากันล่ะ

แต่ทุกครั้งที่เจอปัญหาขอให้คิดว่าออกไปได้ก็ดีแค่ไหนแล้ว ชีวิตที่ไทยเราเคยลำบากกว่านี้อีก บ่นเสร็จก็ไปทำอย่างอื่นต่อ 

จะไปคือไป ลงมือจัดการทำเอกสาร ไม่ต้องอธิบายตัวเองให้ใครฟังทั้งนั้นเพราะจะทำให้ไขว้เขว อยากรู้อะไรมาคุยกับเราหรือคุยกับคนที่เขาออกไปได้แล้ว ถ้าไม่แน่ใจก็ลองออกมาอยู่ก่อนไม่ชอบก็กลับบ้าน  

ถ้าไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงก็ออกมาให้ได้ก่อน 
แล้วชีวิตจะมีทางไปของมันเอง..

credit จาก พันธทิพย์



Comment